Menu

1. ดรรชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ

ที่มา : www.eiu.com , www.gov.ph และ Thailand’s Economic Fact Sheet (January 2011)

2. การจัดการจัดลำดับโดยสถาบันระหว่างประเทศ

3. ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป

3.1 อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ (GDP Growth) ในปี 2553 อยู่ที่ 7.3 % สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2519 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2552 และการใช้จ่ายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อมิถุนายน การเพิ่มขึ้นของเงินโอนจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ (OFWs) การขยายตัวของภาคการส่งออก การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ (5.3%) การเพิ่มขึ้นของปริมาณการลงทุน (25.6%) และเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

อนึ่ง คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในปี 2554 จะชะลอตัวลงอยู่ที่ 5.4% เนื่องจากการยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ซึ่งส่งผลให้การลงทุนและภาคการส่งออกของฟิลิปปินส์หดตัวลง ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ฟป. ประกาศว่า จะพยายามรักษา GDP Growth ของฟิลิปปินส์ให้อยู่ในระดับ 7 -8 % ในช่วงระยะกลาง (medium term) ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้

3.2 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศและรายได้ประชาชาติต่อหัว

ปี 2553 GDP ของฟิลิปปินส์มีมูลค่า 199.9 พันล้าน USD (ไทย 316.7 พันล้าน USD) และรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี (GDP per head) 3,489 USD (ไทย 4,705 USD) ทั้งนี้ คาดว่าในปี 54  GDP ของฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้นเป็น  225.7 พันล้าน USD และ GDP per head จะเพิ่มเป็น 3,660 USD ต่อปี

3.3 สภาวะการณ์การจ้างงานในฟิลิปปินส์

ในปี 2553 การว่างงานของฟิลิปปินส์ อยู่ในอัตราร้อยละ 7.1 (ประมาณ 2.8 ล้านตำแหน่ง) น้อยลงจากปี 2552 โดยเขตเมืองหลวง (National Capital Region: NCR) มีอัตราการว่างงานสูงสุดที่สุดในประเทศ ร้อยละ 10.9 สาเหตุสำคัญ ได้แก่ การปิดกิจการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ จากผลกระทบของวิกฤตการเงินเมื่อปี 2552

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังประสบปัญหาการทำงานต่ำกว่าระดับความสามารถ (underemployment rate) ในอัตราสูงที่ร้อยละ 19.6 (ประมาณ 6.7 ล้านตำแหน่ง) สูงขึ้นกว่าปี 2552

4. โครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ภาคบริการ มีสัดส่วนต่อ GDP ใหญ่ที่สุด 54.8 % รองลงมา ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม 31.4 % และภาคเกษตรกรรม (รวมประมงและป่าไม้) 13.7 %

  • ธุรกิจบริการที่สำคัญ ได้แก่ กิจการค้าปลีกและค้าส่ง บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การท่องเที่ยวและโรงแรม อนึ่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจบริการได้ขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจการธุรกิจรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ (Business Process Outsourcing: BPO) อาทิ การให้บริการ Call Centre และ Digital Content
  • ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า อาหารแปรรูป
  • ภาคเกษตรกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การประมง การเพาะปลูกมะพร้าว ข้าว ข้าวโพด กล้วยหอม สับปะรด และมะม่วง

5. นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ

5.1 แก้ไขภาวะขาดดุลงบประมาณ

ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อน โดยเน้นการสร้าง วินัยทางการคลังโดยใช้วิธีการบริหารงบประมาณแบบสมดุล (Zero – Budgeting Policy) ในการนี้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้ประกาศในระหว่างการแถลงนโยบายในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง (State of the Nation Union) เมื่อ กรกฎาคม 2553 ว่าจะเสนอร่างกฎหมายความรับผิดชอบทางการคลัง (Fiscal Responsibility Bill) เพื่อใช้เป็นกลไกในการควบคุมการพิจารณาอนุมัติ เฉพาะโครงการที่สามารถระบุแหล่งที่มาของงบประมาณได้เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

อนึ่ง รัฐบาลตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณไว้ 2% ใน 2556

5.2 ฟื้นฟูสถานะทางคลัง

โดยการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีและรายได้เข้ารัฐ การแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง/ การลักลอบนำเข้าสินค้าอย่างผิดกฎหมาย (กระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ประเมินว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์สูญเสียรายได้จากการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีประมาณ 250 พันล้านเปโซ ต่อปี) การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และการออกพันธบัตรสกุลเงินเปโซ

5.3 สนับสนุนการมีส่วนร่วมการเป็นหุ้นส่วนของภาคเอกชน ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public – Private Partnership: PPP)

เพื่อระดมทุนในการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตร และโครงสร้างพื้นฐาน โดยประธานาธิบดี Aquino III ได้ประกาศจะดำเนินโครงการ PPP ให้ได้ 70-100 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 740 พันล้าน เปโซ (16.8 พันล้าน USD) ก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งใน 2559

อนึ่ง รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้จัดตั้ง PPP Center ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ ภายใต้องค์การเศรษฐกิจ และการพัฒนาแห่งฟิลิปปินส์ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานนโยบาย ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน

อนึ่ง เมื่อ พฤศจิกายน 2552 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ประกาศแผนจะเปิดประมูลโครงการ PPP ในปี 2554 จำนวน 10 โครงการ ได้แก่ โครงการเกี่ยวกับการก่อสร้างถนน/ทางพิเศษ 2 โครงการ โครงการเกี่ยวกับการสร้าง/ปรับปรุง/บริหาร ท่าอากาศยาน 4 โครงการ และโครงการเกี่ยวกับการก่อสร้างส่วนขยายของรถไฟฟ้า 2 โครงการ

ในส่วนของการระดมเงินทุน นอกจากแผนการออกพันธบัตร เพื่อใช้ในโครงการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานระยะเวลา 20 และ 25 ปี และการร่วมมือกับธนาคารในกำกับของรัฐ ในการสนับสนุนค่าชดเชยในการเวนคืน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ยังแสวงโอกาสในการหาเงินทุนจากต่างประเทศจาก World Bank และ ADB (ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษารูปแบบการดำเนินโครงการร่วมกัน) และได้ประชาสัมพันธ์โครงการ PPP ให้นักลงทุนต่างประเทศในระหว่างการเยือนต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ได้หยิบยกเรื่อง PPP ขึ้นหารือกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในระหว่างการเยือนเกาหลีใต้เมื่อมกราคม 2554

5.4 สร้างเสริมบรรยากาศในการลงทุนในฟิลิปปินส์

โดยการอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ ให้มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น โดยเมื่อกันยายน 2553 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ริเริ่มใช้ระบบ Electronic Business Name Registration System (eBNRS) ในการขออนุญาตประกอบธุรกิจ/จัดตั้งบริษัทโดยตั้งเป้าหมายจะลดระยะเวลาในการขออนุญาตลงจาก 45 – 60 วัน เหลือ 1 สัปดาห์ โดยระบบดังกล่าวเป็นการปูทางไปสู่การใช้ National Business Registry Database ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทร่วมระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของฟิลิปปินส์ อาทิ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม คณะกรรมการหลักทรัพย์ และหน่วยงานท้องถิ่น

นอกจากนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันยังเน้นการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ ในด้านเสถียรภาพของรัฐบาล และความต่อเนื่องของนโยบาย ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส และตรวจสอบได้

6. ภาคการเงินและการคลัง

6.1 สถานะทางการคลังปี 2553

ในปี 2553 งบประมาณของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ขาดดุล 298.5 พันล้านเปโซ (คิดเป็น 3.9% ของ GDP) ลดลงจากปี 2552 โดยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของรายได้ของรัฐจากการเก็บภาษี และอากร และการกวาดล้างผู้หลีกเลี่ยงการเสียภาษีและอากร โดยการลดลงของงบประมาณขาดดุลในครั้งนี้ส่งผลให้ เมื่อ พฤศจิกายน 2553 สถาบันการจัดลำดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจ Standard and Poor’s ปรับยกระดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนในฟิลิปปินส์เป็น BB (20 จุดต่ำกว่า investment grade) ซึ่งถือเป็นลำดับที่สูงสุดในรอบ 7 ปี

อนึ่ง รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Aquino III ประกาศจะแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณโดยใช้ (1) นโยบายงบประมาณสมดุล (Zero-budgeting Policy) โดยตั้งเป้าจะลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้ 2 % ภายในปี 2556 และ (2) กวาดล้างผู้หลีกเลี่ยงภาษี เพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

6.2 แนวโน้มสถานะทางการคลังปี 2554

เมื่อธันวาคม 2553 รัฐสภาฟิลิปปินส์ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2554 (ม.ค. – ธ.ค. 2554) ของฟิลิปปินส์มูลค่ารวม 1.6 ล้านล้านเปโซ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2542 ที่รัฐสภาสามารถผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ได้ก่อนการเริ่มปีงบประมาณ

อนึ่ง รัฐบาลฟิลิปปินส์ตั้งเป้าหมายว่างบประมาณในปี 2554 จะขาดดุล 290 พันล้านเปโซ หรือเท่ากับ 3.2 % ของ GDP

6.3 ดุลบัญชีเดินสะพัด

ในปี 2553 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจำนวน 11 พันล้าน USD ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2553 เพิ่มขึ้น ได้แก่ การขยายตัวของภาคการส่งออก และภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ (Business Process Outsourcing : BPO) และปริมาณเงินโอนจาก OFWs ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ช่วยรักษาดุลบัญชีเดินสะพัดให้อยู่ในเชิงบวก

อนึ่ง คาดว่าปี 2554 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเหลือ 9.8 พันล้าน USD เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

6.4 อัตราเงินเฟ้อ

ในปี 2553 เงินเฟ้ออยู่ในอัตรา 3.8% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าในตลาดโลก และความเสียหายต่อผลิตผลทางการเกษตรจากพายุไต้ฝุ่น และภัยแล้งจากปรากฏการณ์ El Nino

อนึ่ง คาดว่าในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์จะคงตัว และเพิ่มขึ้นในปี 2555 เนื่องจากปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศในช่วงปลายปี 2553

6.5 อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลเปโซ

ค่าเงินสกุลเปโซในช่วงต้นปี 2553 มีความผันผวนเนื่องจากผลกระทบของวิกฤตหนี้ในยุโรป อย่างไรก็ดี ในช่วง 4 เดือนสุดท้าย 2553 ค่าเงินสกุลเปโซแข็งค่าขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้มีการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย กอปรกับการเพิ่มขึ้นของเงินโอนจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ (OFWs)ในช่วงปลายปี

ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์เงินไหลเข้าประเทศในช่วง มกราคม – กันยายน สูงขึ้น 10 เท่า จากช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเปโซแข็งตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี อยู่ที่ 43.16 เปโซต่อ USD และเพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อสกุลเงินเปโซ เมื่อพฤศจิกายน 2553 ธนาคารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Banko Sentral ng Pilipinas: BSP) ได้ประกาศผ่อนคลายระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการไหลออกของเงินสกุลต่างชาติ อาทิ ปรับเพิ่มเพดานจำนวนเงินที่อนุญาตให้โอนออกนอกประเทศสำหรับ  residence และ non residence และผ่อนคลายกฎระเบียบและขั้นตอนในการลงทุนออกนอกประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ และปัญหาเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้น

6.6 นโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Banko Sentral Pilipinas: BSP)

BSP มิได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การปรับอัตราดอกเบี้ย overnight borrowing เมื่อธันวาคม 2551 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เมื่อกรกฎาคม 2552 เพื่อป้องกันแรงกดดัน ที่อาจมีต่ออัตราแลกเปลี่ยนสกุลเปโซ และผลกระทบที่อาจมีต่อภาคการส่งออก และเนื่องจากเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2552  อนึ่ง BSP อาจจะยกเลิกมาตรการทางการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งได้บังคับใช้เมื่อปี 2552 อาทิ การลดปริมาณเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นด้วย

6.7 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์  (Philippine Stock Exchange: PSE) ณ กันยายน 2553 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 34.3 % อยู่ที่ 4,047 จุด ซึ่งทำให้ PSE เป็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่มีสมรรถนะดีที่สุดในเอเชียในช่วงระหว่าง มกราคม – กันยายน 2553 โดยปัจจัยสำคัญได้แก่ ตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ที่ปรับตัวขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อนึ่ง เมื่อ 26 กรกฎาคม 2553 ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนระบบซื้อขายหลักทรัพย์จากระบบ MakTrade system ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2533 เป็นระบบ New Trading System (NTS) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อ-ขาย มากยิ่งขึ้น

6.8 เงินโอนจาก Overseas Filipino Workers (OFWs)

เงินโอนสุทธิจาก OFWs ในปี 2553 มูลค่ารวม 18.7 พันล้าน USD (เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 8.16 ) โดยแบ่งเป็นเงินโอนจาก OFWs ภาคพื้นดิน (landbase) 14.9 พันล้าน USD และ OFWs ภาคพื้นทะเล (Seabase) 3.8 พันล้าน USD โดยภูมิภาคที่มีเงินโอนจาก OFWs สูงสุด ได้แก่ ภูมิภาคอเมริกา (9.9 พันล้าน USD) ภูมิภาคยุโรป (3.2 พันล้าน USD) ภูมิภาคเอเชีย (2.4 พันล้าน USD) และประเทศที่มีเงินโอนจาก OFWs สูงสุด ได้แก่ สหรัฐฯ (7.9 พันล้าน USD) ในส่วนเงินโอนจาก OFWs จากประเทศไทยในปี 2553 มูลค่า 4.4 ล้าน USD (เพิ่มขึ้นจากปี 2552  ร้อยละ 7.3)

อนึ่ง เงินโอนจาก OFWs เป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานต่อการจับจ่ายใช้สอย และการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์อย่างมาก และยังเป็นปัจจัย ที่ช่วยรักษาดุลบัญชีเดินสะพัดของฟิลิปปินส์ให้อยู่ในแดนบวก

*********************

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ มีนาคม 2554